สาระน่ารู้
ก๊าซชีวภาพคืออะไร มาจากไหน – จุดกำเนิด กระบวนการของจุลินทรีย์และการใช้งาน
ก๊าซชีวภาพ หรือ ไบโอก๊าซ หรือ ไบโอแก๊ส (Biogas) คือ ก๊าซที่เกิดจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่ไร้อากาศ ซึ่งกระบวนนี้เกิดจากจุลินทรีย์ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือแบคทีเรียผลิตกรด (Acid forming bacteria) และจุลินทรีย์ผลิตมีเทน (Methane microbe or Methanogens) โดยกระบวนการที่นิยมใช้กันก็เช่น UASB หรือ CSTR
ที่แอดมินไม่เรียกจุลินทรีย์ผลิตมีเทนว่าเป็นแบคทีเรีย เพราะทางเทคนิคแล้ว Methanogens ไม่ใช่แบคทีเรีย พวกมันเป็นพวกที่เกิดก่อนแบคทีเรียจะถือกำเนิดขึ้นบนโลกเสียอีก ชื่อจริงของพวกมันคือ Archaea (อ่านว่า อา-เคีย) พวกมันไม่ใช่ทั้งเซลล์แบคทีเรีย และเซลล์สัตว์ แอดคิดว่าถ้าจะให้อธิบายทางวิชาการผู้อ่านอาจจะหลับซะก่อนเลยขอสรุปง่ายๆว่าพวกมันเป็นจุลินทรีย์ประเภทหนึ่งก็แล้วกันจ้า
โดยกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่ไร้อากาศเริ่มจากพวกแรกย่อยสารอินทรีย์ที่มีโครงสร้างโมเลกุลใหญ่ ให้กลายเป็นสารอินทรีย์ที่มีโมเลกุลเล็กลง และพวกจุลินทรีย์ผลิตมีเทนก็จะกินสารอินทรีย์ที่มีโมเลกุลเล็กเหล่านี้แล้วผลิต ก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) นอกจากนี้ในระหว่างกระบวนก็จะมีจุลินทรีย์กลุ่มอื่นๆ ผลิตก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามก๊าซไข่เน่า รวมถึงก๊าซแอมโมเนีย (NH3) และก๊าซไนโตรเจน (N2) ด้วย
สารอินทรีย์ที่จุลินทรีย์เหล่านี้โปรดปรานก็เช่นน้ำเสีย เศษอาหาร ของเสีย กากของเสียต่างๆ โดยปกติเราวัดค่าความเข้มข้นของสารอินทรีย์ในน้ำเสียได้ในรูปของ BOD (Biological Oxygen Demand) และ COD (Biochemical Oxygen Demand) ยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งผลิตก๊าซมีเทนได้มากเท่านั้น
กระบวนการผลิตก๊าซชีวภาพแบบนี้มีอยู่ในประเทศเรามาหลายสิบปีแล้ว โดยมีการประยุกต์ใช้ในการบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงงานแป้งมัน โรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม โรงงานผลิตเอทานอล หรือแอลกอฮอล์ โรงงานผลิตอาหารแปรรูปต่างๆ ฟาร์มสุกร ฟาร์มไก่ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยผ่านกระบวนการเช่น UASB และ CSTR
หากท่านสนใจอยากทราบว่าของเสียที่ท่านมีสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้เท่าใด สามารถเลือกประเภทของเสียของท่านโดยคลิกดูได้ที่นี่เลย
หากสนใจผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้งานผลิตไฟฟ้า หรือทดแทนเชื้อเพลงฟอสซิลเพื่อประหยัดค่าพลังงาน รวมถึงได้บำบัดน้ำเสีย ของเสียอีกด้วย ท่านสามารถติดต่อหาเราได้ที่บริษัท ปภพ จำกัด โทร 02-570-5580 I LINE: @papop I info@papop.com