Hot News

ก๊าซชีวภาพช่วยลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ได้จริงหรือ!?

ก๊าซชีวภาพช่วยลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ได้จริงหรือไม่ และทำได้อย่างไร วันนี้ผมจะพาเพื่อนๆ มาหาคำตอบกัน

ทุกวันนี้เราทราบอยู่แล้วว่าฝุ่นจิ๋วขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่เราเรียกว่า PM2.5 ส่งผลกระทบไม่เพียงต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลไปถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศเราอีกด้วย

ผลกระทบที่ส่งผลถึงมนุษย์คือ

  • แสบตา ตาแดง
  • ผิวหนังอักเสบ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
  • สมองมีพัฒนาการช้า สมาธิสั้น
  • ภูมิแพ้กำเริบ หอบหืด
  • มีไข้ ตัวร้อน

โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางเช่น เด็ก ผู้สูงวัย จะได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงคนที่มีโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต่างๆ ซึ่งผู้เขียนที่มีอาการภูมิแพ้ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย รัฐจึงได้พิจารณาให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ PM2.5 ยังส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่อยากมาเที่ยวในเมืองที่มีปัญหาด้วย เช่นภาคเหนือ หรือกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ภาพไฟไหม้ในนาข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้ว จากเฟซบุ๊ก อบต.ควนสตอ จังหวัดสตูล

สาเหตุของฝุ่น PM2.5 มาจากหลายแหล่ง และมีต้นเหตุที่แตกต่างกันระหว่างในเมือง และนอกเมือง ในเมืองนั้นมีสาเหตุหลักมาจากไอเสียรถยนต์ รถบรรทุก และการจราจร กิจกรรมการก่อสร้างรวมไปถึงไอเสียที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า (อ้างอิง เรียนรู้อยู่กับฝุ่น PM2.5 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ส่วนนอกเมือง ซึ่งเราพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการเผาป่าทั้งที่มาจากมือมนุษย์ หรือจากธรรมชาติ รองลงมาคือนาข้าว พื้นที่อื่นๆ รวมถึงข้าวโพดและอ้อย ตามลำดับ ตามรูปด้านล่าง

สัดส่วนจุดความร้อนสะสม

รูปที่ 1 สัดส่วนจุดความร้อนสะสม จำแนกตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแบบของกรมพัฒนาที่ดิน และแยกย่อยลงไปตามประเภทพื้นที่แบ่งตามความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ดูแล ข้อมูลเดือน มกราคม – เมษายน 2564

ที่มา : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) via The Standard

สถิติการปลูกข้าว ข้าวโพด และอ้อย ในไทยในปี พ.ศ. 2565 มีดังนี้

  • ข้าว         22 ล้านตัน
  • ข้าวโพด  19 ล้านตัน
  • อ้อย         86 ล้านตัน

การปลูกพืชดังกล่าวมีของเหลือจากการเก็บเกี่ยวดังแสดงในตารางด้านล่าง และของเหลือส่วนใหญ่จะถูกเผา และก่อให้เกิด PM 2.5 จำนวนมากในหลายพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันเราสามารถเก็บของเหลือทางการเกษตรมาเข้าระบบหมักเพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ จากนั้นก็เปลี่ยนก๊าซให้เป็นมีเทนชีวภาพเหลว และคาร์บอนไดออกไซด์เหลวสรุปดังตารางด้านล่าง

ของเหลือน้ำหนัก (ล้านตันต่อปี)เทียบเท่าผลิตไฟฟ้า (MW/hr)มีเทนชีวภาพเหลว (ตันต่อวัน)คาร์บอนไดออกไซต์เหลว (ตันต่อวัน)
ฟางข้าว332,30010,51014,700
ซังและเปลือกข้าวโพด6.73711,6902,000
ใบและยอดอ้อย177823,5704,900
รวม56.73,45315,77021,600

หากเราสามารถนำของเหลือทางการเกษตรทั้งหมดมาใช้ เราจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 3,543 MW/hr หรือผลิตมีเทนชีวภาพเหลวได้ประมาณ 15,770 ตันต่อวัน สามารถทดแทนการนำเข้า LNG จากต่างประเทศได้ถึง 5.7 ล้านตันต่อปี และเกิดรายได้ในประเทศถึงกว่า 150,000 ล้านบาทต่อปี ที่สำคัญคือลดฝุ่น PM2.5 ได้ประมาณ 50% ส่วนคาร์บอนไดออกไซต์เหลวสามารถก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 75.6 ล้านบาทต่อปี

ตัวอย่างถังแบบ CSTR ใช้ผลิตก๊าซชีวภาพจากฟางข้าว

ประโยชน์ที่จะได้จากการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเหลือทางการเกษตรคือ

  1. ลดฝุ่น PM2.5 ที่มาจากการเผาของเหลือทางการเกษตรได้ 100% คิดเป็น 50% ของปริมาณฝุ่นทั้งหมด
  2. เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จากการขายของเหลือทางการเกษตร คิดเป็นเงิน ปีละกว่า 8,000 ล้านบาท ราคารับซื้อหน้าโรงงานสำหรับฟางข้าวซังและเปลือกข้าวโพด 135 บาทต่อตัน, ใบอ้อย 200 บาทต่อตัน และยอดอ้อย 150 บาทต่อตัน และได้สารปรับปรุงดินจากโครงการ ผลิตมีเทนชีวภาพเหลวเป็นของตอบแทน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์
  3. เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดของประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนรายใหญ่ที่มีนโยบายลดโลกร้อน
  4. ลดการนำเข้า LNG ได้ 5.7 ล้านตัน/ปี คิดเป็น 46% ของการนำเข้า LNG ปี 2566
  5. ยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เพราะได้ใช้เชื้อเพลิงสะอาดทดแทนเชื้องเพลงฟอสซิล
  6. ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สู่ชั้นบรรยากาศ ลดโลกรวน ลดโลกร้อน
  7. เข้ากับ Bio-Circular-Green Economy (BCG) Model และ UN Sustainable Development Goals (SDGs) ข้อ (Affordable and clean energy) และ 13 (Climate action)

ตัวอย่างของการทำโครงการลักษณะแบบนี้ที่ทำได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมคือที่ประเทศอินเดียมีการนำของเหลือจากการเกษตรมาผลิตเป็น Bio-CBG หรือ Compressed Biomethane Gas (CBG) กันอย่างกว้างขวาง เพราะได้รับรการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างตือเนื่องและจริงจัง อีกทั้งมีการห้ามการเผาของเหลือทางการเกษตร หากผู้ใดฝ่าฝืนมีการลงโทษอย่างหนัก ตัวอย่างตามลิงค์ด้านล่าง

Punjab’s first bio-CNG plant starts paddy straw collection

ท่านผู้อ่านพอสรุปได้แล้วว่าเทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพจะสามารถผลิตโฉมการเผาของเหลือทางการเกษตรและลดการเกิด PM2.5 ได้อย่างไร ขั้นต่อไปในฐานะประชาชนอย่างเราคงเป็นเรื่องการผลักดันให้เกิดโครงการดีๆ แบบนี้ทั่วประเทศ จะได้เกิดผลดีต่อเรา และลูกหลานของเราในอนาคต

ผู้เขียน: ดร.อภิพงษ์ ล่ำซำ (กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปภพ จำกัด และเลขาธิการสมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทย) เป็นผู้มีประสบการณ์ในวงการพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมมากกว่า 15 ปี เป็นผู้บรรยายในงานสัมมนาระดับประเทศและระดับนานาชาติ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านก๊าซชีวภาพ

สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท ปภพ จำกัด “ตามสะดวกที่รายละเอียดด้านล่าง หรือคุยกับเราได้ที่มุมล่างขวาของหน้าเว็บได้เลย”

LINE official: @papop

โทร 02-570-5580

อีเมล info@papop.com