สาระน่ารู้

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนคืออะไร มีจุดกำเนิด และพัฒนาการอย่างไร

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนมีชื่อเต็มว่า “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยของรัฐมนตรีพลังงานสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่มีแนวคิดในการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ใช้พืชพลังงาน หญ้าเนเปียร์ หรือ biomass หรือของเสีย หรือน้ำเสีย หรือวัตถุดิบอื่นๆ แล้วยังเป็นการช่วยเหลือชุมชนที่เป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบผ่านทางวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอีกด้วย

โครงการนี้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการครั้งแรกในวันที่ 13 มีนาคม 2563 โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน  ในขณะนั้นยังมีการเปิดกว้างรับโรงไฟฟ้าหลายประเภทเช่นแบบเชื้อเพลิงเดี่ยว  เชื้อเพลิงผสม หรือ Hybrid และ Solar/Hybrid Solar หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากได้ให้คำนิยามไว้ว่า “โครงการจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ รับรู้และเห็นชอบในการก่อสร้าง มีส่วนแบ่งรายได้ของโรงไฟฟ้าคืนกลับสู่ชุมชนผ่านกองทุนหมู่บ้าน โดยชุมชนเป็นหุ้นส่วนในการประกอบธุรกิจผลิตและจาหน่ายไฟฟ้าร่วมกับภาคเอกชน และ/หรือ องค์กรของรัฐ ผ่านทางวิสาหกิจชุมชน”

จนนำมาสู่ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 10 เมษายน 2563 ในตอนนั้นทุกอย่างทำท่าว่าจะไปได้ดี แต่เมื่อรัฐมนตรีพลังงานสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งไปในวันที่ 16 ก.ค. 2563 ก็ทำให้โครงการหยุดชะงัก

เมื่อรัฐมนตรีพลังงานท่านใหม่คือ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ก็มีคำสั่งให้ทบทวนการดำเนินการโครงการนี้ใหม่โดย พพ. ทำการปรับปรุงเงื่อนไขใหม่จนเป็นที่มาของ “หลักการของร่างประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงงาน เรื่อง ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง)” ที่มีการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 21 ม.ค. 2564 และประกาศเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564

เราจะเห็นได้ว่าโครงการย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้งหลังจากผ่านประกาศมาเกือบ 8 เดือน ในร่างประกาศกกพ. ฉบับนี้มีความแตกต่างจากร่างเดิมที่เป็นสาระสำคัญคือ 1) ใช้การประมูลราคาแทนการให้คะแนนผลประโยชน์ 2) จำกัดจำนวนปริมาณไฟฟ้าเสนอขายให้เป็น 75 MW จากโรงไฟฟ้าชีวมวล และ 75 MW จากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ รวมทั้งสิ้น 150 MW  3) ในกรณีของโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพได้ตัดอัตรา Feed-in-Tariff (FiT) ที่ใช้พืชพลังงาน 100% ออกไป เหลือเพียงพืชพลังงานผสมน้ำเสียและของเสียไม่เกิน 25%  4) มีการกำหนดกรอบระยะเวลาเบื้องต้นไว้อย่างชัดเจนว่าโครงการจะมีการประมูลเสร็จสิ้นในวันที่ 31 พ.ค. 2564 และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าวันที่ 28 กันยายน 2564

แต่เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้โครงการเกิดการล่าช้าออกไปอีกจนที่สุดแล้วมีการประกาศผลการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนโดยกกพ. เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 เป็นการสิ้นสุดการรอคอยมาเกือบสองปี และผลิกฟื้นวงการโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนพลังงานทดแทนอย่างแท้จริง ด้วยมีส่วนร่วมจากชุมชน

ในบทความต่อไปแอดมินจะมาสรุปและวิเคราะห์โครงการแต่ละแบบให้ทุกท่านได้พิจารณากัน

ปภพคือผู้มีประสบการณ์ในการออกแบบ ก่อสร้าง และเดินระบบโรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพแบบครบวงจร ด้วยกระบวนการ CSTR ที่มีประสิทธิภาพสูง